6 ประวัติพระเกจิอาจารย์ชื่อดังของไทย ที่เหล่าเซียนพระเคารพบูชา

Screenshot 2567-10-25 at 17.07.01.png หากพูดถึงศาสนาและความศรัทธาของคนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นอกจากพระพุทธรูปที่มีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนานแล้ว อีกหนึ่งอย่างที่คนไทยให้ความเคารพนับถือและเลื่อมใสก็คือ “พระภิกษุ” ที่ปฏิบัติตนจนเป็นที่นับถือของชาวบ้าน ทั้งยังมีวิชาอาคมแก่กล้าจนถูกเรียกขานต่อๆ กันมาว่า “เกจิอาจารย์”

วันนี้เราขอพาไปดูกันว่ามีพระเกจิอาจารย์รูปไหนบ้างที่เหล่าเซียนพระนิยมเช่าบูชา

6 ประวัติพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง มีรูปไหนบ้าง?

Screenshot 2567-10-25 at 17.07.09.png

1. หลวงปู่ทวด วัดช้างให้

  • สมเด็จพะโคะ, สมเด็จเจ้าพระราชมุนีสามีรามคุณูปรมาจารย์ หรือที่หลายๆ คนรู้จักกันในชื่อ “หลวงปู่ทวด” ถือเป็นพระเกจิอาจารย์ดังในประเทศไทยที่ได้รับความศรัทธา และเลื่อมใสจากชาวบ้านตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จนถูกยกให้เป็นพระเกจิอาจารย์ในตำนานที่มีความสำคัญอย่างมากในสมัยอยุธยา ทั้งยังเป็นพระเกจิอาจารย์ดังที่ได้รับความศรัทธา 1 ใน 2 มหาเกจิอาจารย์ของเมืองไทยคู่กับ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) หลวงปู่โต อีกด้วย
  • โดยประวัติเกจิอาจารย์หลวงปู่ทวด เดิมชื่อ “ปู” ท่านเกิดเมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2125 ที่จังหวัดสงขลา เริ่มบวชเณรครั้งแรกเมื่ออายุขวบ 10 ปี และได้เดินทางไปศึกษาที่นครศรีธรรมราช ณ สำนักพระมหาเถระปิยะทัสสี จนกระทั่งถึงอายุครบที่จะอุปสมบทและได้เข้ารับการอุปสมบท โดยมีฉายาว่า “ราโมธมมิโก” หรือคนทั่วไปเรียกว่า เจ้าสามีราม
  • มีตำนานที่กล่าวขานต่อกันมาถึงเรื่องราวที่ท่านได้รับการยกย่องให้เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง “หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด” สืบเนื่องหลังจากเรียนจบชั้นธรรมบท ท่านได้เดินทางโดยเรือกลับไปยังกรุงศรีอยุธยาเพื่อศึกษาเล่าเรียนธรรมเพิ่มเติม ระหว่างทางเกิดคลื่นลมทะเลปั่นป่วน จนทำให้ไม่สามารถเดินทางต่อได้เป็นเวลา 7 วัน อาหารและน้ำเริ่มหมด ขณะที่นั่งในเรือเล็กท่านได้ยื่นเท้าแช่ลงในน้ำทะเลและเกิดความอัศจรรย์ขึ้น ด้วยเพราะน้ำทะเลบริเวณนั้นมีประกายแวววับ พอลูกเรือตักน้ำขึ้นมาดื่มกลับกลายเป็นน้ำจืด จึงทำให้สามารถประทังชีวิตจนเดินทางกลับมายังกรุงศรีอยุธยาได้ จึงเป็นที่มาของตำนานที่เล่าขานสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
  • ในช่วงที่หลวงปู่ทวดครองสมณเพศท่านได้ทำคุณูปการมากมาย ทั้งการเผยแผ่พระศาสนา เป็นผู้นำในการปกป้องประชาชนจากโจรสลัดมลายูที่มาปล้น เป็นผู้นำทางวัฒนธรรม เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาและเรียนรู้เรื่องราวท้องถิ่น อีกทั้งบูรณะวัดพะโคะที่มีความทรุดโทรมให้กลับมาสวยงามอีกครั้ง ซึ่งวัดพะโคะแห่งนี้ยังเป็นสถานที่พักพิงให้กับประชาชนที่อพยพเพื่อหนีน้ำในปี พ.ศ. 2553 เมื่อครั้งที่มีน้ำท่วมใหญ่ในภาคใต้อีกด้วย จนเมื่ออายุ 80 ปี ก่อนที่ท่านจะมรณภาพได้สั่งเสียกับลูกศิษย์ว่าให้นำศพของท่านไปไว้ที่ อ.โคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ซึ่งสถานที่ฌาปนกิจหลวงปู่ทวดก็คือ “วัดช้างให้” จังหวัดปัตตานี นั่นเอง

วัตถุมงคลหลวงปู่ทวดที่ได้รับความนิยมมีดังนี้

  1. พระหลวงปู่ทวดเนื้อว่านรุ่นแรกวัดช้างให้ พิมพ์ใหญ่หัวขีด
  2. พระหลวงปู่ทวดเนื้อว่านรุ่นแรก พิมพ์ใหญ่บี
  3. พระหลวงปู่ทวดเนื้อว่านรุ่นแรก พิมพ์ใหญ่ไหล่จุด
  4. พระหลวงปู่ทวดเนื้อว่าน พิมพ์พระรอดหน้าใหญ่
  5. พระหลวงปู่ทวด พิมพ์หลังเตารีดใหญ่ เนื้อนวโลหะ พ.ศ. 2505
  6. รูปหล่อโบราณพระหลวงปู่ทวดรุ่นเล็กใต้ฐาน พ.ศ. 2505
  7. เหรียญเสมาพระหลวงปู่ทวดรุ่นแรก ปีพ.ศ. 2500

Screenshot 2567-10-25 at 17.07.20.png

2. หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค

  • หลวงพ่อปาน โสนันโทเถระ เกิดเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2418 ย่านวัดบางนมโค ได้อุปสมบทเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2438 ณ พัทธสีมา วัดบางนมโค ตรงกับวันจันทร์ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 5 ปีมะแม โดยมีหลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์จ้อย วัดบ้านแพ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์อุ่ม วัดสุธาโภชน์ เป็นอนุสาวนาจารย์ มีฉายาว่า “โสนันโท”
  • หลังจากร่ำเรียนมายาวนาน ท่านจึงเดินทางกลับบ้านเกิดมาจำพรรษาที่ วัดบางนมโค และตั้งสำนักสอนภาษาบาลีและนักธรรม อีกทั้งริเริ่มก่อสร้างศาสนวัตถุต่างๆ รวมถึงพัฒนาวัดบางนมโคจนเจริญรุ่งเรืองมาถึงปัจจุบันนี้ นอกจากหลวงพ่อปานจะทำนุบำรุงศาสนาและบูรณะปฏิสังขรณ์วัดบางนมโคแล้ว ท่านยังบูรณะและสร้างวัดอีกมากมายกว่า 42 วัด อาทิ วัดเขาวงพระจันทร์, วัดเขาสะพานนาค เป็นต้น มากกว่านั้นท่านยังเป็นนักเทศน์ที่ได้รับความเลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้าน รวมถึงท่านยังมีความสามารถด้านการแพทย์ ช่วยรักษาอาการเจ็บไข้ได้ป่วย หรือถูกคุณไสยต่างๆ ตามวิชาแพทย์โบราณที่ได้ร่ำเรียนมาอีกด้วย
  • ต่อมาหลวงพ่อปานได้รับพระราชทานเป็น “พระครูวิหารกิจจานุการ” เป็นเจ้าอาวาสวัดบางนมโคจนถึงช่วงที่ท่านมรณภาพเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2481 สิริอายุรวม 63 ปี 42 พรรษา และแม้ว่าท่านจะมรณภาพไปกว่า 70 ปีแล้ว แต่แรงศรัทธาของชาวบ้านที่เลื่อมใสต่อหลวงพ่อปานยังยาวนานจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ท่านยังสร้างพระเนื้อดินขึ้นมาแจกด้วย เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2460 โดยมีด้วยกัน 6 พิมพ์ คือ
  1. พิมพ์ขี่ไก่
  2. พิมพ์ขี่ครุฑ
  3. พิมพ์ขี่เม่น
  4. พิมพ์ขี่นก
  5. พิมพ์ขี่ปลา
  6. พิมพ์ขี่หนุมาน โดยพระเนื้อดินของหลวงพ่อปานนั้นจะมีพุทธคุณด้านแคล้วคลาดปลอดภัย โชคลาภ นั่นเอง

Screenshot 2567-10-25 at 17.07.28.png

3. หลวงปู่แผ้ว วัดรางหมัน

  • หลวงปู่แผ้ว วัดรางหมัน เป็นพระเกจิอาจารย์ดังแห่งเมืองกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เดิมท่านมีชื่อว่า แผ้ว บุญวัตร และมีชื่อเล่นว่า แกละ เกิดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2466 ตรงกับวันพุธ 14 ค่ำ เดือน 11 ปีกุน ที่ตำบลทุ่งขวาง อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เริ่มเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ด้วยการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2486 ณ วัดหนองปลาไหล โดยมี พระครูสุกิจธรรมสร (พระอธิการหว่าง ธมมสโร) วัดกำแพงแสน เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการปาน วัดหนองปลาไหล เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระสนั่น วัดหนองปลาไหล เป็นพระอุนสาวนาจารย์ โดยหลวงปู่แผ้วได้จำพรรษาที่วัดกำแพงแสน มาตั้งแต่ปี 2502 จนถึงปี 2551 และได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดประชาราษฎร์บำรุง (วัดรางหมัน) ในวันที่ 31 มีนาคม 2551 จนถึงปัจจุบัน
  • โดยหลวงปู่แผ้วได้สร้างคุณูปการรอบด้าน ทั้งการปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่างๆ ทั้งในเขตอำเภอกำแพงแสนและพื้นที่ใกล้เคียง นอกจากนี้ท่านยังรับกิจนิมนต์จากญาติโยมด้วยการนั่งปรกปลุกเสกวัตถุมงคล และด้วยความที่ท่านเป็นพระภิกษุสงฆ์ที่เปี่ยมไปด้วยเมตตา ใช้ชีวิตแบบสมถะเรียบง่าย ไม่ยึดติดกับวัตถุหรือลาภยศ จึงทำให้ท่านเป็นพระผู้ใหญ่ที่มีลูกศิษย์และชาวบ้านจำนวนมากให้ความเคารพศรัทธา เลื่อมใสเป็นจำนวนมาก
  • สำหรับวัตถุมงคลของหลวงปู่แผ้วที่ได้รับความนิยม และเป็นที่ปรารถนาในหมู่ลูกศิษย์และนักสะสม ตลอดจนเหล่าเซียนพระ คือ เหรียญพิทักษ์แดนใต้, เหรียญระฆังที่ระลึกอายุ 87 ปีหลวงปู่แผ้ว เป็นต้น โดยมีความเชื่อว่ามีพุทธคุณที่เข้มขลัง จนถูกกล่าวว่า “วัตถุมงคลวัดไหน รุ่นไหน หากไม่ได้นิมนต์หลวงปู่แผ้วไปนั่งปรก จะได้รับความนิยมน้อยกว่ารุ่นที่หลวงปู่แผ้วไปนั่งปรก” อีกด้วย

Screenshot 2567-10-25 at 17.07.39.png

4. หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน

  • ประวัติพระเกจิอาจารย์รูปต่อมาคือ หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน หรือชื่อเดิมคือ “เงิน” เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2353 และได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ 12 ปีที่วัดตองปู (วัดชนะสงคราม) เพื่อศึกษาเล่าเรียนและเมื่ออายุครบบวชได้ท่านก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดชนะสงคราม ฉายา “พุทธโชติ” ขณะที่จำพรรษาอยู่ที่วัดชนะสงครามได้ไปถวายตัวเป็นศิษย์เพื่อศึกษาศิลปวิทยาคม ตลอดจนเรียนวิปัสสนาธุระในทางเมตตามหานิยมและคงกระพันชาตรีจากเจ้าพระคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี วัดระฆังโฆสิตาราม
  • หลังจากนั้นท่านได้ย้ายมาจำพรรษาที่ วัดบางคลาน จังหวัดพิจิตร โดยท่านมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “หลวงพ่อเงิน หรือ หลวงปู่เงิน” เรียกได้ว่ามีลูกศิษย์ลูกหา ทั้งชาวบ้านทั่วไป ไปจนถึงพระเกจิอาจารย์ดังมากมาย โดยศิษย์ฆราวาสคนสำคัญก็คือ สมเด็จกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
  • โดยคุณูปการสำคัญๆ ที่ท่านได้สร้างไว้มีมากมาย ทั้งการก่อสร้างถาวรวัตถุ ไม่ว่าจะเป็นโบสถ์ วิหารและวัดใกล้เคียงอยู่เสมอ รวมถึงการสร้างวัตถุมงคลต่างๆ อย่างพระเครื่อง พระพิมพ์ต่างๆ นอกจากนี้ท่านยังใช้วิชาการแพทย์โบราณที่ร่ำเรียนมารักษาโรคภัยไข้เจ็บให้แก่ชาวบ้าน ทั้งการใช้สมุนไพรและใช้น้ำมนต์รักษา (มีผลด้านกำลังใจของคนไข้ เนื่องจากหลวงพ่อเงินเป็นนักวิปัสสนาที่มีชื่อเสียง) อีกด้วย

นอกจากนี้ ท่านยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้รับสมณศักดิ์เป็นท่านเจ้าคุณฝ่ายวิปัสสนาจารย์ โดยก่อนที่ท่านจะมรณภาพไปนั้น ท่านได้สร้างวัตถุมงคลเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้เลื่อมใสศรัทธาไว้บูชา ซึ่งยังเป็นที่ต้องการจนถึงปัจจุบัน โดยทรงคุณค่าในด้านแคล้วคลาดปลอดภัย คงกระพัน เสน่ห์เมตตามหานิยม และให้ลาภแก่ผู้บูชาด้วย โดยมี 4 พิมพ์ที่นิยม คือ รูปหล่อพิมพ์นิยม, รูปหล่อพิมพ์ขี้ตา, เหรียญหล่อพิมพ์จอบเล็ก, เหรียญหล่อพิมพ์จอบใหญ่ เป็นต้น

Screenshot 2567-10-25 at 17.07.51.png

5. พระมงคลเทพมุนี วัดปากน้ำภาษีเจริญ

  • พระมงคลเทพมุนี แต่เดิมท่านมีชื่อว่า สด มีแก้วน้อย เกิดเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2427 ตำบลสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี และได้อุปสมบทเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2449 ณ พัทธสีมาวัดสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี มีฉายาว่า “จนทสโร” โดยมีพระอาจารย์ดี วัดประตูสาร จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูวินยานุโยค วัดสองพี่น้อง เป็นพระกรรมวาจาจารย์, พระอาจารย์โหน่ง อินทสุวณโณ วัดสองพี่น้อง เป็นพระอนุสาวนาจารย์
  • ในช่วงที่ครองสมณเพศท่านได้ทำคุณูปการมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเผยแผ่พระศาสนา ทำนุบำรุงศาสนา วัดวาอาราม โดยเฉพาะวัดปากน้ำภาษีเจริญ ที่ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสให้กลับมามีความยิ่งใหญ่อีกครั้ง จนกลายเป็นพระอารามหลวงที่สำคัญของประเทศที่มีทั้งพระสงฆ์ในไทยและพระสงฆ์จากต่างประเทศ เป็นต้น

ก่อนท่านจะมรณภาพท่านได้ผลิต “พระผงวัดปากน้ำ” หรือที่เหล่าเซียนพระเรียกกันว่า “พระของขวัญ” ออกมาด้วยกัน 3 รุ่น ซึ่งเป็นที่เลื่องลือกันว่าพระของขวัญของหลวงปู่สดมีความศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างมาก เนื่องจากมีพุทธคุณครอบจักรวาล ไม่ว่าจะเป็นแคล้วคลาดปลอดภัย เมตตามหานิยม และคงกระพันชาตรี ทำให้มีผู้คนจำนวนมากทั้งในประเทศและต่างประเทศหลั่งไหลเดินทางมาบูชาพระของขวัญของหลวงปู่สดวัดปากน้ำภาษีเจริญอย่างไม่ขาดสาย

Screenshot 2567-10-25 at 17.08.03.png

6. หลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่

  • ประวัติพระเกจิอาจารย์ชื่อดังของไทยรูปสุดท้ายคือ หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ แห่งวัดบ้านไร่ โดยท่านเกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2466 แรม 10 ค่ำ เดือน 10 ปีกุน ณ บ้านไร่ ตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา เมื่อท่านอายุครบ 21 ปี ได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดถนนหักใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ต่อมาได้ฝากตัวเป็นศิษย์ของหลวงพ่อแดง ชินปุตฺโต วัดบ้านหนองโพธิ์ และหลวงพ่อคง พุทธสโร วัดถนนหักใหญ่ ก่อนจะเดินทางออกธุดงค์ด้วยเท้าเปล่าไปยังสถานที่ต่างๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ เมื่อธุดงค์เสร็จเรียบร้อยจึงกลับมาจำพรรษา ณ วัดบ้านไร่

ซึ่งขณะที่หลวงพ่อคูณได้จำพรรษาที่วัดบ้านไร่ ท่านได้ทำคุณงามความดีเอาไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างวัด โรงพยาบาล โรงเรียน สถานีอนามัย วิทยาลัย สถานีตำรวจ ฯลฯ จึงทำให้ท่านได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานสัญญาบัตร พัดยศ ดังนี้

  • 12 สิงหาคม 2535 พระราชทานสัญญาบัตร พัดยศ ที่พระญาณวิทยาคมเถร
  • 10 มิถุนายน 2539 พระราชทานสัญญาบัตร พัดยศ เลื่อนสมณศักดิ์ที่พระราชวิทยาคม
  • 12 สิงหาคม 2557 รับพระราชทานสัญญาบัตร พัดยศ เลื่อนสมณศักดิ์ที่พระเทพวิทยาคม และท้ายที่สุดได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 11 โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2546 อีกด้วย

จนกระทั่งปี 2558 หลวงพ่อคูณได้เข้ารับการรักษาอาการอาพาธด้วยภาวะหัวใจหยุดเต้น ปอดรั่ว ที่โรงพยาบาลมหาราช ต่อมาอาการทรุดหนักขึ้นทำให้แพทย์ต้องฟอกไตและปั๊มหัวใจอยู่หลายครั้ง จนในที่สุดท่านก็ได้มรณภาพเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 สิริอายุรวม 92 ปี 70 พรรษา วัตถุมงคลของหลวงพ่อคูณ มีด้วยกันทั้งหมด 9 รุ่น ดังนี้

  • เหรียญหลวงพ่อคูณ รุ่นคุณพระเทพวิทยาคม ปี 2556
  • เหรียญหลวงพ่อคูณ รุ่นเพชรน้ำเอก ปี 2536
  • เหรียญหลวงพ่อคูณ รุ่นธนาคารศรีนคร ปี 2521
  • เหรียญหลวงพ่อคูณ รุ่นคุณพระเทพประทานพร ปี 2536
  • เหรียญหลวงพ่อคูณ ปี 2517
  • เหรียญหลวงพ่อคูณ รุ่นเจริญพรบน ปี 2536
  • เหรียญหลวงพ่อคูณ รุ่นแรกปี 2512
  • เหรียญหลวงพ่อคูณ รุ่นนั่งพานชนะมาร ปี 2537
  • เหรียญหลวงพ่อคูณ รุ่นสร้างบารมี ปี 2519 โดยเหรียญหลวงพ่อคูณเหล่านี้ เหล่าเซียนพระและชาวบ้านต่างมีความเชื่อว่า มีพุทธคุณที่เน้นไปทางแคล้วคลาดปลอดภัย หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ กล่าวเอาไว้ตอนสอนลูกศิษย์

ทั้งหมดนี้คือประวัติพระเกจิอาจารย์ของไทย ที่เหล่าเซียนพระต่างเคารพบูชาและศรัทธากันอย่างสูง รวมถึงวัตถุมงคลพระเกจิอาจารย์ชื่อดังมากมายที่เหล่าเซียนพระและนักสะสมต่างหาเช่ามาบูชา สำหรับใครที่มีพระเหรียญ หรือพระเครื่องจากพระเกจิอาจารย์ชื่อดังเก็บสะสมไว้อยู่ที่บ้าน และอยากตรวจสอบให้แน่ใจว่าเป็นของแท้หรือไม่ สามารถนำมาตรวจเช็กกับเราที่แอปพลิเคชัน SK Check พระเครื่องสันขวานได้เลย

SK CHECK (10).png

ตรวจสอบโดยทีมงานเซียนพระมืออาชีพที่มีคุณภาพ รับประกันโดยโอ๊ต บางเเพ

☑️ แอดไลน์ @skcheck

☑️ หรือคลิก https://lin.ee/didOn9m

☑️ สอบถาม / ติดตามรายละเอียด : เพจ SK Check สันขวาน by โอ๊ต บางแพ